วันเสาร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2555

Blueberry cake

บลูเบอร์รี่ ผลไม้เพื่อสุขภาพ

มีผลไม้อยู่ไม่กี่อย่างที่เป็นพืชท้องถิ่นของทวีปอเมริกาเหนือและบลูเบอร์รี่ (Blueberry) ก็นับเป็นหนึ่งในผลไม้หายากที่มีแหล่งเพาะปลูกสำคัญในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา นักพฤกษศาสตร์เองได้ลองคำนวณอายุของผลไม้ชนิดนี้แล้วพบว่าบลูเบอร์รี่ปรากฏบนโลกใบนี้มานานกว่า 13,000 ปีแล้ว โดยที่คนสมัยก่อนไม่ได้เรียกผลไม้หวานฉ่ำลูกกลมเล็กชนิดนี้ว่าบลูเบอร์รี่เหมือนปัจจุบัน แต่เลือกที่จะเรียกบลูเบอร์รี่ว่า "Vaccinium" ตามที่เวอร์จิล (Virgil) และไพลนี (Pliny) นักประพันธ์ชาวโรมได้บันทึกไว้
คำว่า "Vaccinium" ก็ได้กลายเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ของบลูเบอร์รี่ไปในที่สุด (Vaccinium spp. Cult) ซึ่งถ้าลองมองรายละเอียดให้ลึกลงไปอีกสักนิดจะพบว่าที่มาที่ไปของ Vaccinium นั้นมีรากศัพท์มาจากภาษาละตินคือ "Vaccinium" ซึ่งแปลว่า "วัว" ส่วนคำอธิบายว่าทำไมบลูเบอร์รี่จึงมีความหมายเกี่ยวโยงไปถึงวัวได้นั้นหลายคนพยายามอธิบายว่าอาจเป็นเพราะวัวป่าโบราณโปรดปรานการกินผลไม้ชนิดนี้ แต่ในที่สุดเหตุผลต่างๆที่ถูกยกขึ้นมากล่าวอ้างก็เป็นแค่ข้อสรุปที่คลุมเครือเท่านั้น
สัตว์ป่าประเภทอื่นๆ ก็นิยมกินบลูเบอร์รี่เหมือนกันโดยเฉพาะหมีป่า ที่พอถึงฤดูของบลูเบอร์รี่ก็จะกินแต่ผลไม้เนื้อสีม่วงแดงชนิดนี้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งอาการเสพติดลูกเบอร์รี่ของเจ้าหมีตัวใหญ่มีบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรว่า มันจะแบกท้องอันว่างเปล่าของมันเดินทางออกไปไกลวันละ 10-15 ไมล์ เพื่อสุดดมหากลิ่นหอมหวานที่ลอยออกมาจากพุ่มบลูเบอร์รี่นอกจากนี้นกก็เป็นสัตว์อีกชนิดหนึ่งที่คลั่งไคล้รสหวานอมเปรี้ยวของผลไม้ชนิดนี้เหมือนกัน ซึ่งสร้างปัญหาให้กับชาวสวนอยู่ไม่น้อย เพราะบางครั้งถึงขั้นต้องควานหารังนกในไรบลูเบอร์รี่กันเลยทีเดียว
แต่ถ้าจะถามหาผู้เชี่ยวชาญด้านการแปรรูปผลบลูเบอร์รี่ ต้องศึกษาหาความรู้จากชนพื้นเมืองของอเมริกาโดย Samuel de Champlain นักสำรวจชาวฝรั่งเศสรุ่นแรกๆ ได้ออกเดินทางไปพบชาวอินเดียนแดงซึ่งกำลังเก็บเกี่ยวลูกเบอร์รี่จากพุ่มไม้เรื่อยไปตามแนวของทะเลสาบอูรอน จากนั้นจึงนำไปตากให้แห้ง แล้วบดผสมกับเมล็ดข้าวโพดตากแห้งบดหยาบๆ (Cornmeal) เติมน้ำและน้ำผึ้งตามลงไปเพื่อทำเป็นพุดดิงที่ชื่อว่า "Sautauthing"
คณะสำรวจที่นำโดย Meriwether Lewis และ William Clark ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี Thomas Jefferson ก็ไม่ยอมน้อยหน้า เก็บกระเป๋าแล้วออกเดินทางไปสำรวจจนพบกับชาวอินเดียแดงเช่นกัน แต่เจอตอนที่กำลังนำลูกบลูเบอร์รี่ไปรมควันเพื่อเก็บเอาไว้เป็นเสบียงตอนหน้าหนาว โดยเวลาจะกินต้องนำไปบดหยาบก่อนยัดเป็นไส้ของเนื้อรมควันตากแห้งเหมือนกัน
นอกจากนี้ยังมีอาหารของชาวอินเดียแดงที่ใช้บลูเบอร์รี่เป็นส่วนประกอบหลักอีกมากมาย แต่ก็มีการประยุกต์ปรับปรุงสูตรออกไปบ้างเล็กน้อย เช่น Blueberry Bannock หรือบิสกิตของชาวอินเดียแดง ที่นำแป้งน้ำตาลเมเปิลที่มีหน้าตาเหมือนน้ำตาลปี๊บบ้านเรา และเบกกิงพาวเดอร์ (Baking Powder) มาผสมรวมกันก่อนหันไปตีไข่กับน้ำบลูเบอร์รี่ จากนั้นเทผสมกับของแห้งตามด้วยบลูเบอร์รี่สด ขั้นตอนสุดท้ายคือการทอด โดยตั้งกระทะให้ร้อน ตักน้ำมันพืช ๅ ช้อนใส่ลงไปก่อนจะตักส่วนผสมปริมาณ ๅ ช้อนโต๊ะเช่นเดียวกันลงไปทอดจนสุก
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากการวิจัยระบุว่าบลูเบอร์รี่มีปริมาณของสารต้านอนุมูลอิสระสูง ซึ่งสารตัวนี้ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้เซลล์ของร่างกายถูกทำลายและช่วยต้านมะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่สารที่พบมากที่สุดในบลูเบอร์รี่คือสารแพกติน ซึ่งช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในร่างกายและยังมีการวิจัยอื่นๆ ที่สนับสนุนว่าบลูเบอร์รี่ช่วยเพิ่มความสามารถในการจำได้อีกด้วย
นอกจากนี้การกินบลูเบอร์รี่เป็นประจำจะช่วยบำรุงสายตาและบำรุงจอตา ซึ่งช่วยให้มองเห็นในที่มืดได้ดียิ่งขึ้น และยังช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดต้อกระจกอีกด้วย อีกทั้งบลูเบอร์รี่ยังมีสารโพแทสเซียมซึ่งควบคุมการไหลเวียนของเลือด มีวิตามินซีสูง อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก แคลเซียม ฟอสฟอรัส และช่วยทำให้ระบบของท่อปัสสาวะทำงานได้ดีขึ้น เนื่องจากมีสารประกอบป้องกันเชื้อแบคทีเรียซึ่งเป็นสาเหตุของการติดเชื้อในท่อปัสสาวะที่ได้รับมาจากผนังกระเพาะปัสสาวะ
ส่วนใครที่กังวลเรื่องน้ำหนักตังก็สามารถกินบลูเบอร์รี่สดๆ ได้อย่างสบายใจ เพราะผลไม้ลูกกลมเล็กชนิดนี้ปราศจากคอเลสเตอรอล แถมโซเดียมที่ทำให้เกิดโรคไตยังต่ำอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น